จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ตลกสังคม เรื่องที่ 4

เรื่อง ตลกสังคม

อาทิตย์นี้เรามาเล่าเรื่องเบา ๆ สมองสู่กันฟังอีกดีกว่า คุณ ๆ จะได้เอาไปเล่าต่อเป็นที่เฮฮากันในโต๊ะเหล้าโต๊ะข้าวในวันพักผ่อนสุดสัปดาห์อย่างนี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า ปาร์ตี้โจ๊ก ก็ตลกสังคม ถ้าจะว่าเป็นไทย ๆ กันนั่นแหละครับ วันไหนอาทิตย์ไหนเหมาะ ๆ ผมก็อาจจะเอาเดอร์ตี้โจ๊ก หรือตลกสัปดนมาเขียนให้คุณอ่านบ้างก็ได้ ถ้าบรรณาธิการท่านใจกล้าปล่อยออกมาให้คุณ ๆ อ่านกัน

ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อย่าไปบอกเลยว่าชื่อมหาวิทยาลัยอะไร ท่านศาสตราจารย์ท่านหนึ่งมีหน้าที่บรรยายวิชาสรีรศาสตร์ วิชานี้เป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับบรรดานิสิตทั้งหญิงและชายทั่วหน้ากัน และศาสตราจารย์ผู้นี้ท่านนี้เป็นนักวิชาการ ท่านก็ไม่มีลูกเล่นลูกล้อที่จะทำให้พวกลูกศิษย์สนุกสนานได้ด้วยคำบรรยายของท่าน ต่างก็เบื่อหน่ายกันทั่วหน้าเมื่อถึงชั่วโมงของท่านศาสตราจารย์ท่านนี้

วันหนึ่งพวกลูกศิษย์ก็นัดแนะกันว่า เมื่อท่านศาสตราจารย์ท่านนี้เข้ามาบรรยาย เมื่อถึงชั่วโมงของท่าน ทุกคนก็จะพากันลุกขึ้นเดินออกจากห้องบรรยายไป โดยเฉพาะลูกศิษย์หญิงทั้งหลาย เพราะท่านศาสตราจารย์ผู้นี้นอกจากจะทำให้บรรยายกาศหงอยเหงาแล้ว ท่านก็ยังมีอายุมาก ไม่เป็นที่รื่นรมย์สำหรับบรรดานิสิตหญิงเลย

ท่านศาสตราจารย์ท่านนั้นก็รู้ถึงนัยอันนี้ และรู้ถึงการนัดแนะของพวกลูกศิษย์ที่จะทำกันในวันนั้นเมื่อถึงชั่วโมงของท่าน แต่ท่านก็ทำเหมือนไม่รู้อะไร คงเข้าห้องบรรยายตามปกติ เมื่อถึงชั่วโมงของท่าน ท่านก็ทำหน้าที่ของท่านไปตามปกคิ บรรยายวิชาการอันน่าเบื่อหน่ายนั้นอย่างเคย และสังเกตเห็นอาการกระสับกระส่ายของบรรดาลูกศิษย์อยู่แล้ว ทันทีท่านก็หันเหการบรรยายออกมานอกเรื่องกลางคันว่า

" เห็นเขาว่าที่โคราช ทหารอเมริกันเพิ่มจำนวนขึ้นอีกมาก และทำให้โสเภณีที่นั่นชักจะขาดแคลน ..."

ถึงตอนนี้ บรรดานิสิตหญิงที่เริ่มจะเซ็ง ๆ ก็มองตากันตามที่นัดแนะกันไว้ แล้วก็พากันลุกขึ้นหอบตำราเดินไปทางประตูห้อง

" ประเดี๋ยวก่อน พวกเธอทั้งหลายน่ะ " ท่านศาสตราจารย์พูดขึ้น ชี้นิ้วไปที่พวกนิสิตหญิงเหล่านั้น " รถไฟขบวนที่จะไปโคราช กว่าจะออกก็ห้าโมงเย็นนะเธอนะ "

เรื่องนี้จะให้ชื่อว่า ทีเด็ดศาสตราจารย์ ก็ได้


ทีนี้ก็มาถึงเรื่องคดีหย่าร้างระหว่างผัวเมียที่ทีชื่อในวงสังคมคู่หนึ่ง

ฝ่ายภรรยาฟ้องหย่าสามีด้วยข้อหาหลายประการ ตั้งแต่ความเจ้าชู้ การทอดทิ้งบ้านช่องออกไปหาความสำราญนอกบ้าน แถมยังแอบไปมีเมียน้อยอีก ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายภรรยาก็ยังซื่อสัตย์จงรักภักดีและเสียสละอดทนทุกอย่าง การสืบพยานดำเนินมาจนถึงวันที่ตัวภรรยาผู้เป็นโจทก์จะต้องขึ้นศาลและให้การเป็นพยานตัวเองเป็นพยานสุดท้าย เธอได้ให้การต่อศาล ตอบข้อซักถามของทนายโจทก์ของเธอถึงคุณงามความดีของเธอ และความซื่อสัตย์ที่เธอมีต่อสามีตลอดมา แล้วกลับได้รับการตอบแทนด้วยความไม่ซื่อของสามี ทำให้ทั้งศาลและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีนี้มีความเห็นใจเธอทั่วหน้ากัน เมื่อจบขบวนการฝ่ายโจทก์แล้ว ก็ถึงคราวของฝ่ายจำเลยจะซักค้านบ้าง ทนายจำเลยก็ลุกขึ้นไต่ถามถึงชื่อของเธอ นามสกุล และความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามีซึ่งเป็นฝ่ายจำเลย เพื่อเป็นการเปิดฉากการซักถาม แล้วทนายก็เดินกลับไปที่โต๊ะที่นั่งฝ่ายจำเลย หยิบเอากระดาษแผ่นหนึ่งบนโต๊ะขึ้นมายืนอ่านข้อความในกระดาษแผ่นนั้นอยู่ครู่หนึ่ง เงยหน้าขึ้นมองภรรยาซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ แล้วถามว่า

" คุณโสภีครับ ผมขอให้คุณตอบคำถามของผมต่อไปนี้อย่างจริงใจ และคุณต้องตอบด้วยความจริง เพราะว่าขณะนี้คุณให้การในฐานะพยาน จะให้การเท็จไม่ได้ คุณฟังให้ดีนะครับ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๕ นี้ คุณได้นั่งแท็กซี่คันหนึ่งไปสองต่อสองกับชายหนุ่มคนหนึ่ง ไปยังสวนลุมพินี คุณสั่งให้รถแท็กซี่คันนั้นแล่นเลยไปทางเกาะลอย แล้วให้จอดรถไว้ในมุมมืดบริเวณนั้น แล้วคุณก็ไล่ให้คนขับรถแท็กซึ่คนนั้นไปเสียที่อื่น โดยคุณให้เงินจำนวนหนึ่งแก่เขาไป และไม่ให้เขากลับมาภายในสองชั่วโมง แล้วคุณกับชายหนุ่มคนนั้นก็แสดงบทรักกันในรถแท็กซี่คันนั้นโดยมิได้คำนึงถึงศีลธรรมประเพณีอะไรทั้งสิ้น จนกระทั่งมีคนเดินผ่านคุณไป คุณก็ยังไม่ได้สังเกตหรือรู้สึกตัวทั้งสองคน โปรดตอบผมว่าจริงหรือไม่ "

ใบหน้าของเธอผู้นั้นถอดสี ชั่วครู่เดียว แล้วเธอก็คุมสติได้ เอ่ยเอื้อนวาจาออกมาด้วยน้ำเสียงอันแผ่วเบาเยือกเย็นว่า

" กรุณาบอกดิฉันอีกทีได้ไหมคะว่า วันนั้นเป็นวันที่เท่าไร เดือนอะไรคะ "


ในวงเหล้าวงข้าวที่ค่อนข้างจะมีแต่สมาชิกที่สนิท ๆ กัน ไม่ว่าจะมีผู้หญิงอยู่ด้วยหรือไม่ มักจะมีเรื่องตลก ๆ เบา ๆ สมองมาคุยสู่กันฟัง ย่อยอาหารและทำให้เหล้าเดินหน้าจนลืมว่าจะหมดขวด โจ๊กพวกนี้ฝรั่งเรียกว่า เดอร์ตี้โจ๊ก เราก็ให้ชื่ออย่างไทย ๆ ว่า ตลกสังคม

พ่อหนุ่มคนหนึ่ง หลังจากพาคุณสาวซึ่งจ้องตากันมานานแล้วไปกินเหล้ากินข้าวจนอารมณ์สุกงอมแล้ว ก็พาเจ้าหล่อนมาพักผ่อนที่ห้องพักของเขา ซึ่งแน่ละ ต้องเป็นห้องชายโสด แต่จะเป็นห้องเดียวที่เขามีอยู่หรือไม่นี่ เราไม่ยืนยันหรือนั่งยันนอนยันได้ เขาคงจะได้พยายามที่จะพิชิตหล่อนมานานแล้ว แต่ก็คงจะเป็นแค่ความคิด ใจยังไม่กล้าเอ่ยเอื้อนออกมา ก็เรียกว่าเป็นสุภาพบุรุษจนน่าสงสาร

ในค่ำวันนั้น หลังจากพ่อหนุ่มได้บรรจงปรุงสุราพิเศษให้สาวเจ้าถือในมือแล้ว เขาก็ตัดสินใจว่าจะต้องพูดอะไรกันให้เด็ดขาดไปเสียที เมื่อได้รวบรวมความกล้าหาญไว้ได้ที่แล้ว เขาก็เอ่ยวาจากับหล่อน ในขณะที่มือหนึ่งโอบหล่อนไว้ อีกมือหนึ่งถือถ้วยมาร์ตินี่ที่กำลังได้ที่อยู่บนโซฟาตัวใหญ่ พลางเขี่ยปอยผมของหล่อนเล่นว่า

" นี่แน่ะ โฉมศรี เธอจะขัดขืนไหม ถ้าฉันจะขอให้เธอเป็นของฉันเสียวันนี้ เดี๋ยวนี้ "

โฉมศรีโปรยนัยน์ตากันน่ารักของหล่อนมองดูเขาแล้วเอ่ยอันซึบซาบของหล่อนออกมาว่า

" ฉันยังไม่เคยเลยนี่คะ "

" ไม่เคยร่วมรสกับใครเลยงั้นเหรอ " พ่อหนุ่มอุท่านออกมาด้วยความผิดหวัง

" พูดบ้า ๆ " โฉมศรีตวัดสายตา " ไม่เคยขัดขืนต่างหากเล่า "

คิดเอาเองก็แล้วกันว่า ถ้าคุณเป็นพ่อหนุ่มคนนั้น คุณจะทำอย่างไรต่อไป ... ?


ทีนี้ก็มาถึงเรื่องพ่อหนุ่มรุ่นกะทง ผู้ยังไม่ประสีประสาอะไรกับเรื่องพรรค์นี้อีกคน

วันหนึ่ง เขาขับรถพาคู่ควงสาวสวยของเขาไปตระเวณรับลมกันพอสมควรแล้ว ก็มาจอดรถสงบนิ่งอยู่ใต้แสงจันทร์วันเพ็ญที่สถานที่ที่สงบแห่งหนึ่ง เขาลูบไล้เจ้าหล่อนด้วยความพิศสวาท ด้วยมือข้างที่ว่างจากการโอบกอดหล่อนอยู่ เขาลูบเลื่อนมือจากหัวเข่าเปลือยของหล่อนเรื่อยขึ้นไปถึงชายกระโปรง เขี่ยชายกระ
โปรงเล่นและลูบไล้อยู่ที่ตรงนั้น พลางปากก็พร่ำว่า

" ผมรักคุณ รักคุณเหลือเกิน "

เจ้าหล่อนนั่งสะท้านวาบหวิวจากการลูบไล้ของเขา พลางเอ่ยเอื้อนวาจาแผ่ว ๆ ออกมาว่า

" สูงอีกหน่อยซีคะ "

" ผมรักคุณ รักคุณเหลือเกิน " ไอ้หนุ่มตะเบ็งเสียงสูงขึ้นไปอีก พลางลูบไล้อยู่อย่างนั้น

น่ารำคาญไหมคุณ ... ?


ในหมู่คณะของพวกเราต่างก็แปลกใจกันมากที่อยู่ ๆ พ่อยอดชายนายพิภพกับนงคราญเกิดถอนหมั้นกันโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ต่างก็ไต่ถามพ่อตัวดีว่า มันเป็นเพราะอะไร

ยอดชายนายพิภพก็อรรถาธิบายให้ฟังว่า

" เอายังงี้ก็แล้วกัน ถ้าเป็นคุณ คุณยังคิดที่จะแต่งงานกับผู้ชายที่มีแต่นิสัยไม่ซื่อสัตย์ โกหกพกลมอยู่ตลอดเวลาไหม และยิ่งกว่านั้น คน ๆ นั้นยังมีแต่ความเห็นแก่ตัว ขี้เกียจ แล้วก็ยังดีแต่พูดจาเย้ยหยันอยู่เสมอ "

" แน่นอน " พวกเราตอบออกมาเป็นเสียงเดียวพร้อม ๆ กัน

" นั่นแหละ " พิภพตอบอย่างอ่อนใจ " นงคราญเขาก็คิดเหมือนกันอย่างนี้แหละ


ว่าจะจบเพียงแค่นี้ แต่นึกถึงความน่าเอ็นดูของเด็กขึ้นมาได้เรื่องหนึ่ง ก็ต่อเสียหน่อย

เด็กสองคนวิ่งเล่นอยู่ข้าง ๆ สถานที่ที่มีรั้วรอบขอบชิดแห่งหนึ่ง ซึ่งภายในนั้นเป็นที่ผึ่งแดดของสมาชิกนักนิคมอาบแดด บังเอิญมีรูที่รั้วอยู่รูหนึ่ง เด็กคนหนึ่งก็แอบดูที่รูนั้นด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าข้างในมันเป็นอะไร เด็กคนที่ไม่มีโอกาสดูก็ถามเพื่อน

" เห็นอะไรมั่งวะ แกละ "

" คนโว้ย แยะเชียว "

" ผู้หญิงหรือผู้ชายวะ "

" ไม่รู้ซีวะ มันไม่ใส่เสื้อผ้ากันซักคน "

***

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประวัติของ พ.ต.อ. (พิเศษ) พุฒ บูรณสมภพ

เรื่อง ประวัติ

อันที่จริง ควรจะต้องเริ่มจากประวัติของท่านผู้เป็นเจ้าของเรื่องตัวจริง ก่อนจะนำเรื่องประพันธ์ของท่านขึ้นเผยแพร่ แต่ไม่เป็นไร คงไม่ถือกัน ก็เลยลงไว้ให้อ่านกันไว้บ้างว่า กว่าบุคคลคนหนึ่งจะเดินทางมาจนถึงบั้นปลายนั้น เขาได้ผ่านอะไรมาบ้าง

เด็กชาย พุฒ บูรณสมภพ เกิดที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันพุธ (กลางคืน) ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462 เป็นบุตรคนที่ 5 ของ พระยาสิงห์บุรานุรักษ์ และ คุณหญิง หลิน (สกุลเดิม จุลกะ) มีพี่น้องรวม 8 คน ดังนี้

1. น.ส. พเยาว์ บูรณสมภพ (เสียชีวิต)
2. นายอิทธิ บูรณสมภพ (เสียชีวิต) สมรสกับ นาง ทนอมศรี (อัศวรักษ์)
3. นางลักษณะ บูรณสมภพ (เสียชีวิต) สมรสกับ นายเทียบ อัศวรักษ์ (เสียชีวิต)
4. นางวันณี ไชยโรจน์ (เสียชีวิต) สมรสกับ พลโท อำนวย ไชยโรจน์ (เสียชิวิต)
5. พ.ต.อ. (พิเศษ) พุฒ บูรณสมภพ สมรสกับนางทิพยา (นามและสกุลเดิม ทับทิม ธรรมสโรช) (เสียชีวิต)
6. นางนอบศิริ สมรสกับนายจินดา กาญจณารมณ์
7. นาย นนท์ บูรณสมภพ สมรสกับ รศ. ดร. ตรึงใจ (เกิดศิริ)
8. น.ส. สุนันท์ บูรณสมภพ

ร.ต.ท. พุฒ บูรณสมภพ (ยศขณะนั้น) เข้าพิธีสมรสกับ น.ส. ทิพยา (ทับทิม) ธรรมสโรช ธิดาคนที่ 2 ของขุนวิเทศธราธร และนางเชื่อม ธรรมสโรช เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2486 และมีบุตรรวม 5 คน คือ

1. นางพ้ทธยา (ตุ้ย) สมรสกับ นาย จามร ชุมสาย ณ อยุธยา
2. นาง ธาริณี (ตุ๊ก) สมรสกับ นาย ทรงศักดิ์ ทวีเจริญ ทจ.
3. ว่าที่ ร.ท. ธีรพงศ์ (ติ๊ก) บูรณสมภพ สมรสกับ นาง กัญห์ชลี (เวชประสิทธิ์)
4. ผศ. ดร. พัชราวลัย (แหม่ม) สมรสกับ นาย วิศรุต ชัยปาณี
5. ดร. พงษ์รพี (ต้อง) บูรณสมภพ

มีหลานปู่และหลานตารวม 8 คน และเหลน 1 คน

เจ้าคุณปู่ส่งคุณพ่อเข้าเรียนประจำในโรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนเวนต์ จนอายุได้ 11 ปี เพื่อให้แม่ชีดำที่โรงเรียนฝรั่งในสมัยนั้นอบรมนิสัยที่ค่อนข้างจะเป็น 'คนเฮี้ยว' อยู่สักหน่อย ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อจึงมีโอกาสได้เรียนภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่เด็ก ๆ และต่อมาได้จัดการให้ลูกสาวคนโต 2 คนได้เรียนภาษาฝรั่งเศสก่อนภาษาอังกฤษ ด้วยเห็นว่า เมื่อรู้ภาษาฝรั่งเศสก่อนแล้วนั้น ภาษาอังกฤษจะง่ายและมาเอง เพราะท่านมีประสบ-การณ์มาก่อนแล้ว

ต่อจากนั้น คุณพ่อได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนสวนกุหลายตามลำดับจนจบชั้นอุดมศึกษา

คุณพ่อเป็นคนที่เรียนเก่งมาก และสอบได้ที่หนึ่งทุกปี ท่านอยากเป็นทหารอากาศ เป็นนักบิน แต่ท่านตัวเตี้ยและเล็ก (160 ซม.) ท่านจึงพยายามโหนประตูห้องน้ำทุก ๆ วัน จนสูงขึ้นถึง 180 ซม. ท่านสอบไม่ติดทหารอากาศ แต่มาติดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จปร. แทน จึงได้เข้ารับราชการเป็นตำรวจมาถึงปี พ.ศ. 2500 ท่านครองตำแหน่งนักเรียนดีเด่นมาโดยตลอด ได้เป็นหัวหน้าชั้นและผู้บังคับหมวดภายในโรงเรียนเสมอมา ทำให้ออกจะติดเป็นคนดุและเด็ดขาดมาก

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ท่านสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย จปร. ด้วยยศ ร้อยตำรวจตรี และได้ไปประจำการอยู่ที่สภานีตำรวจชลบุรี มี พ.ต.ต. หลวงนริทรศรศักดิ์ เป็นผู้กำกับ ต่อมาคุณพ่อได้รับการเลื่อนยศเป็น ร้อยตำรวจโท ตำแหน่งสารวัตรสืบสวนกลาง ประจำโรงพักภาษีเจริญ ชนะสงคราม และย้ายไปเป็น สารวัตรสอบสวน ประจำกรมตำรวจ กองกำกับการ 2 สันติบาล (สืบสวนเรื่องการเมืองโดยเฉพาะ) โดยมี
พ.ต.ต. ประจวบ กีรติบุตร เป็นผู้กำกับการ

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 เกิดรัฐประหาร สมัยที่พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ควบคุมรัฐบาล ร.ต.อ. เชื้อ สุวรรณศร เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

ท่านปรีดี ฯ ถูกจับโดย พ.ท. ละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 บางซื่อ
หัวหน้ารัฐประหาร คือ พลโท ผิน ชุณหะวัน ต่อมา คณะรัฐประหารได้เชิญ นาย ควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป๋นนายกรัฐมนตรี ช่วงเวลานั้น คุณพ่อรับผิดชอบฝ่ายการข่าว กอง 2 สันติบาล

คุณพ่อเป็นอาสาสมัครของพลพรรคเสรีไทย (ในสงครามโลกครั้งที่ 2) มีหน้าที่นำขบวนกำลังไปรับร่มลำเรียงอาวุธและยารักษาโรคจากพันธมิตรอเมริกา ส่งลงมาที่ท้องสนามหลวง

หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น ได้มีคำสั่งย้ายคุณพ่อให้เข้ามาเป็นรองสารวัตรประจำโรงพักชนะสงคราม เพื่อมาคุมหน่วยเสรีไทยที่บ้านมลิวัลย์ ถนนพระอาทิตย์ (วังกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์) ซึ่งสมัยนั้น หนึ่งในเสรีไทยมีชื่อว่า นาวาอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา (ยศในขณะนั้น)

จากโรงพักชนะสงคราม คุณพ่อถูกเรียกตัวให้ไปประจำอยู่ที่กองตรวจสันติบาล ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อปราบโจรที่ชุกชุ่มหลังสงคราม

1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 คณะเสนาธิการกองทัพบก คิดปฏิวัติเพื่อขับไล่รัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ คุณพ่อถูกมอบหมายให้รับหน้าที่สอบสวนคณะกบฏเสนาธิการ

16 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2492 เกิดรัฐประหารวังหลวง แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นเหตุให้ นาย ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนจบชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศสในที่สุด

พ.ศ. 2493 กรมตำรวจตั้งหน่วยปฏิบัติการขึ้นหลายหน่วย คือ หน่วยรถเกราะหนักและเบา และหน่วยพลร่ม หน่วยตำรวจตะเวนชายแดน หน่วยตำรวจวัง และตำรวจน้ำ โดยมีแนวร่วมเป็นบริษัทการค้าชื่อ SEA Supply (South East Asian Supply) และ หน่วย O.S.S. (Office of Strategic Services) ของอเมริกาให้ความช่วยเหลือฝึกฝน

หน่วยพิเศษมี พ.ต.ต. เยื้อน ประภาวัตร เป็นผู้บังคับการ
ร.ต.อ. วิชิต รัตนภาณุ เป็น สารวัตรแผนก 1 กองตำรวจเหนือ
ร.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ เป็นสารวัตรแผนก 2 รับผิดชอบหน่วยรถเกราะเบา
ร.ต.อ. พันศักดิ์ วิเศษภักดี เป็นสารวัตรแผนก 3 กองตำรวจนครบาลธนบุรี รับผิดชอบหน่วยรถเกราะหนัก

ในปีเดียวกันนี้ กรมตำรวจได้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน นครปฐมขึ้น และมี
พล ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ

หลังจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน พล ต. อ. เผ่า ศรียานนท์ ก็โอนย้ายจากทหารบกมาเป็นอธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ โดยคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กิจการของกรมตำรวจเฟื่องฟูขึ้นในสมัยนี้เอง

พ.ศ. 2494 รัฐบาลกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติประเทศไทยทางเรือ โดยเสด็จ ฯ ลงประทับบนเรือ จากท่าเรือนคร Genoa ประเทศอิตาลี กลับประเทศไทย

คุณพ่อได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในคณะบุคคลที่เดินทางไปรับเสด็จ ฯ ด้วย โดยพล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ คัดเลือกนายตำรวจฝีมือดีของกรมตำรวจไว้ 4 นายเพื่อถวายการอารักขา คือ

1. ร.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ
2. ร.ต.อ. อรรณณพ พุกประยูร
3. ร.ต.อ. วิชิต รัตนภาณุ
4. ร.ต.อ. พจน์ เภกะนันท์ (ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ในขณะนั้น)

นายตำรวจทั้ง 4 ต้องไปรอที่เมือง Lausanne ประเทศสวิต ฯ เพื่อถวายการอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระคู่หมั้น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร และนำเสด็จ ฯ ไปที่ท่าเรือในนคร Genoa ประเทศอิตาลี

คุณพ่อเขียนเล่าไว้ว่า ได้ชื่นชมพระบารมี และได้ร่วมเล่นดนตรีที่ท้ายเรือพระที่นั่งเป็นประจำทุกเย็นตลอด 28 วัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป่า Saxophone และคุณพ่อเล่นกีตาร์บ้าง ตีกลองบ้าง เล่นเปียโนบ้าง บางคืนก็ทรงพระราชทานเป็นเงินตั้งวงไพ่ให้ทุกคนที่ร่วมวงคนละ 5 ปอนด์ เป็นรายการย่อยพระกายาหาร คุณพ่อได้เขียนถึงเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งของชีวิตท่านในตอนนี้ ในหนังสือ ต่วนตูน ตอน 'พระบารมีพระมากพ้นรำพัน' เล่าเรื่องที่ได้ถวายการอารักขาทั้งสองล้นเกล้า ฯ บนเรือที่เสด็จ ฯ นิวัติพระนคร ได้มีผู้นำไปออกอากาศในรายการโทรทัศน์ในเวลาหลายสิบปีต่อมา ก่อนที่คุณพ่อจะล้มป่วยลงและจากโลกนี้ไป

พ.ศ. 2495 คุณพ่อได้รับเลื่อนยศเป็น พ.ต.ต. และไปประจำอยู่สถานีตำรวจบางรัก หลังจากนั้น ได้มีพระบรมโองการแต่งตั้งให้นายตำรวจทั้ง 4 นายเป็นนายตำรวจประจำราชสำนัก (ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งราชองครักษ์ของทางราชการทหารในสมัยนี้)

ต่อมาอีกไม่นาน ท่านอธิบดีกรมตำรวจ ได้ตั้งรางวัลให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ที่ทำชื่อเสียงทางการปราบปราม และทางการงานที่เป็นประโยชน์ต่อราชการตำรวจ ไม่ว่าฝ่ายภูธรหรือนครบาล โดยได้รับรางวัลจากท่านอธิบดีกรมตำรวจเป็นแหวน ซึ่งรู้จักกันว่า 'แหวนอัศวิน' ใส่สวมที่นิ้วนางด้านขวา ต่อมามีอัศวินมากขึ้น จึงมีการเพิ่มเติมเพชรประดับขึ้นเรียกว่า ' อัศวินแหวนเพชร' (มีเพียง 30 คน และยุติอยู่เพียงจำนวนนั้น)

(อาหารที่ชื่อว่า บะหมี่อัศวิน เกิดขึ้นในสมัยนั้น ที่กลุ่มอัศวินแหวนเพชรสั่งพิเศษ ใส่เครื่องสารพัดรวมกัน กลายเป็นอาหารจานอร่อยประจำร้านสีฟ้าราชวงศ์ต่อมา)

พ.ศ. 2495 วงดนตรีสากล ชื่อ 'วงประสานมิตร' ถือกำเนิดขึ้น รวมนักดนตรีชั้นหัวหน้าวงชื่อดังหลายท่าน เช่น ประสิทธิ์ พยอมยงค์ สมาน กาญจนผลิน พิบูลย์ ทองธัช จำนรรจ์ กุณฑลจินดา อุโฆษ จันทร์เรือง ฯลฯ มีการฝึกซ้อมกันทุกวันที่บ้านในซอยประสานมิตร (สุขุมวิท 23 ปัจจุบัน) โดยมีต้นแบบจากวง Grand Miller ซึ่งเป็นวงดนตรีระดับแนวหน้าของอเมริกาในสมัยนั้น นำเอาเพลงไทยเดิม เช่น ลาวดวงเดือน เป็นต้น มาบรรเลงเป็นทำนองสากล ออกอากาศที่สถานีวิทยุ ททท ของกรมประชาสัมพันธ์ ทำเอานักเพลงตื่นเต้นกันทั้งเมือง กลายเป็น Talk of the Town ของสมัยนั้น วงประสานมิตรนี้ได้ออกเล่นในงานรัฐธรรมนูญ และที่เวทีลีลาศสวนอัมพร ซึ่งเป็นเวทีของกลุ่ม ไฮโซในสมัยนั้น หลายครั้งในเวลาต่อมา นักดนตรีและนักร้องเป็นคนไทยแท้ ๆ ทั้งหญิงและชาย เป็นวงดนตรีไทยวงแรกที่สามารถบรรเลงเพลงสากลให้คนไทยฟังได้เหมือนวงจากต่างประเทศ จากนั้นไม่นาน วงประสานมิตรก็ได้เข้าสังกัดกองดุริยางค์ กรมตำรวจ

พ.ศ. 2495 คุณพ่อถูกส่งตัวไปอบรมดูงานที่ Scotland Yard ประเทศอังกฤษ ได้เลื่อนยศเป็น พ.ต.ท. และมีคำสั่งให้ไปศึกษาด้านการสืบสวนทางการเมืองโดยเฉพาะ เป็นเวลาประมาณ 1 ปีเต็ม โดยคุณพ่อได้ตะเวณดูงานในประเทศแถบ Scandinavia และดูงานด้านตะเวณชายแดนที่ Germany, Danemark, Holland, Norway และ Sweden เพื่อนำวิธีการมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ของกรมตำรวจในประเทศไทย

พ.ศ. 2496 กรมตำรวจมีคำสั่งให้คุณพ่อย้ายไปเป็นรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาล ฝ่ายต่างประเทศ โดยมีพล ต. จ. รัตน์ วัฒนมหาตม์ เป็นผู้บังคับการ

พ.ศ. 2496 คุณพ่อ และ พ.ต.ท. พันศักดิ์ วิเศษภักดี ได้ร่วมกันสนับสนุนให้กระทรวงเศรษฐการเข้าถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยได้รับการติดต่อจาก นายชิน โสภณพนิช ทำให้ช่วยกอบกู้สถานการณ์ของธนาคารกรุงเทพให้มั่นคงขึ้น และเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ระยะหนึ่ง

พ.ศ. 2497 กำเนิดหนังสือพิพม์ชาวไทย ซึ่งคุณพ่อได้รับมอบหมายให้ไปดูแลเขียนบทความโต้ตอบหนังสือพิมพ์ที่โจมตีกรมตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'สารเสรี' และ ' ไทยรายวัน' ในสมัยนั้น

คุณพ่อได้รับมอบหมายให้จัดพิมพ์นิตยสารรายเดือนของกรมตำรวจ ชื่อ ' อาชญากรรม' ที่นี่เป็นที่กำเนิดของนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน เรื่อง 'นักสืบพราน' โดยคุณพ่อใช้นามปากกาว่า 4411 ซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวของท่าน สมัยยังเป็นนักเรียนนายร้อยอยู่ที่ จปร. ท่านนำแบบฉบับของนักสืบที่เป็นทนายความของ Earl Standley Gardner ชื่อ Perry Mason พร้อมเลขานุการคู่ใจ Dolly Sreet ที่รู้ใจเจ้านายเป็นอย่างดี ร่วมกันต่อสู้กับอิทธิพลของตำรวจ กว่าจะทำงานแต่ละเรื่องได้สำเร็จ เป็นนวนิยายที่ติดตลาดของอเมริกาในสมัยนั้น

นักสืบพราน เจนเชิง พระเอกของคุณพ่อ ก็มีเลขานุการคู่ใจชื่อ กัลยา ชาญวิทยา โดยคุณพ่อได้นำคดีจริงที่เคยทำมาในยุคที่วุ่นวายอยู่กับงานปราบปรามที่กองตำรวจนครบาล มาดัดแปลงปรุงแต่งให้ตื่นเต้น และได้กลายมาเป็นนวนิยายที่คนทั่วเมืองไทยติดตามอ่านกันอย่างใจจดใจจ่อ

ต่อมา คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ดูแลกำกับภาพยนตร์เรื่องที่สองของกรมตำรวจ ชื่อเรื่อง 'เหยื่ออาชญากรรม' มีครูเนรมิตรเป็นผู้กำกับการแสดง ครูจรี อมาตยกุล เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ และคุณพ่อได้รับคำสั่งให้แสดงเป็นพระเอกของเรื่องนี้ โดยมีคุณลัดดา สุวรรณสุภา นางงามชลบุรีของสมัยนั้น รับบทเป็นนางเอก

ภาพยนตร์เรื่อง นักสืบพราน ตอน 'จำเลยไม่พูด' ได้ถูกสร้างขึ้นในเวลาต่อมา คุณพ่อก็ได้รับคำสั่งให้รับบทพระเอกอีก เนื่องจากครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) ไม่สามารถหานักแสดงที่มีลักษณะตามที่คุณพ่อวางไว้ได้ นางเอกเป็นนางงามจังหวัดเชียงราย ชื่อ วาสนา รอดศิริ รับบทเป็น กัลยา ชาญวิทยา

29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินขบวนมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลลาออก เหคุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดวีรบุรุษสะพานมัฆวาน ชื่อ ร. อ. อาทิตย์ กำลังเอก (ยศในขณะนั้น)

17 กันยายน พ.ศ. 2500 เกิดรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัขต์ คุณพ่อเล่าว่า ท่านและท่านอธิบดีกรมตำรวจทราบมาก่อนแล้วว่า จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แต่ท่านอธิบดี ฯ เกิดความเบื่อหน่ายในอำนาจทางการเมือง และการแย่งชิงกัน เมื่อเพื่อนอยากได้อำนาจ ท่านก็ไม่ต่อสู้ อันจะทำให้คนไทยเกิดการสูญเสียมากกว่าเป็นผลดี ท่านและนายตำรวจฟังข่าวปฏิวัติอยู่ที่บ้านลับแห่งหนึ่ง ได้พร้อมกันโยนปืนพกประจำตัวลงไปในบ่อน้ำในสวนลุมพินี แล้วพากันไปมอบตัวที่กองบัญชาการทหารบกในเย็นวันเดียวกัน ตามที่วิทยุได้มีประกาศเชิญของฝ่ายปฎิวัติ ตามรายนามดังต่อไปนี้

1. จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
2. จอมพลอากาศ ฟื้น ฤทธาคณี แม่ทัพอากาศ
3. จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล แม่ทัพเรือ
4. พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ
5. จอมพล ผิน ชุณหะวัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

18 กันยายา พ.ศ. 2500 พล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.ต.อ. พันศักดิ์ วิเศษภักดี และ พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ ถูกส่งตัวไปประเทศสวิตเซอร๋แลนด์ โดยเครื่องบิน Swissair โดยมีคำสั่งจากหัวหน้าคณะปฏิวัติให้ไปประจำที่สถานทูตไทยในกรุง Bern ประเทศสวิต ฯ ในฐานะคณะทูตพิเศษกินตำแหน่งเลขานุการเอก แต่เป็นการเดินทางแบบตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียว (One way) ชั้นหนึ่ง ไม่มีตั๋วกลับ หนังสือเดินทางแบบ Diplomatic มีวีซ่าเข้าประเทศสวิต ฯ เรียบร้อยทุกประการ

แต่เมื่อถึงประเทศสวิต ฯ แล้ว ก็ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่ง เนื่องจากเมื่อเครื่องบินแวะลงที่กรุงการาจี ได้มีหนังสือพิมพ์อินเดียส่งผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์ และไปออกข่าวผิดพลาดว่า คณะนี้จะชิงอำนาจกลับให้ได้ จึงเป็นที่มาของการเข้าใจผิดในช่วงแห่งการสับสนนั้น

ชีวิตในต่างประเทศนั้น คุณพ่อได้เขียนไว้หลายตอน ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู้กันฟังในรายละเอียดต่อไป

คุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ณ โรงพยาบาลตำรวจ ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ เมื่ออายุได้ 80 ปี

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การเมืองที่ทำให้พวกเราต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศกันนานกว่า 10 ปีนั้น เป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส พวกเราได้ภาษาและได้รับความรู้อย่างดีจากโรงเรียน International School of Geneva ได้มีวิสัยทัศน์ที่กว้าง ทำให้เราเห็นสัจธรรมว่า ในเรื่องการเมือง ' ไม่มีมิตรแท้ และไม่มีศัตรูถาวร' อำนาจคือ 'หัวโขน' ที่ไม่ควรยึดติด

'ความดี' เท่านั้นที่คงอยู่ตลอดไป
'คุณธรรม' คือสิ่งที่ทุกคนต้องยึดมั่นไว้เพื่อชีวิตที่ดีในอนาคต
ต้องทำในสิ่งที่ 'ถูกต้อง' ไม่ใช่ 'ถูกใจ' และ
ต้องรู้จัก 'เสียสละ' เพื่อส่วนรวม ประเทศชาติจึงจะอยู่รอด



วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ตลกสังคม เรื่องที่ 3

เรื่อง ตื่นเมืองนอก

เมื่อซักปี ๒๔๙๓ ท่านอธิบดีเผ่า เจ้านาย หอบหิ้วเอาพวกผมไปเมืองนอก เพราะได้รับคำสั่งให้ไปปฎิบัติหน้าที่ราชการอันมีความสำคัญสูงสุด คือ ไปถวายความอารักขาแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเสด็จนิวัติพระนครทางเรือ

เจ้านายพาพวกผมไปตั้งหลักที่กรุงโรม นครหลวงของอิตาลี ก่อนจะเดินทางผ่านฝรั่งเศสเข้าสวิตเซอร์แลนด์ทางรถไฟ เราต้องสำรวจเส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินเสียก่อนที่จะปฎิบัติการจริง ๆ

นับเป็นครั้งแรกที่พวกผมได้มีโอกาสไปสูดกลิ่นอายของเมืองฝรั่ง ทุกคนต่างตื่นเต้นกันทั่วหน้า เว้นแต่เจ้านายคนเดียว เพราะท่านเจนเสียแล้ว

ทางสถานทูตไทยที่กรุงโรมจองโรมแรมชั้นหนึ่งให้เราพักกลางใจกรุงโรม ชื่ออะไร ขอโทษ ผมลืมเสียแล้ว

จากสถานีรถไฟก็นั่งรถยนต์ที่่ท่านทูตส่งมารับ มุ่งตรงไปที่โรงแรมที่เขาจัดไว้ให้ ส่วนเจ้านายนั้น ท่านทูตดึงเอาตัวไปพักที่สถานทูต

พอรถจอดที่หน้าโรงแรม พวกเราสี่คนซึ่งมี คุณไล่อัน สิริสิงห์ - พันศักดิ์ - วิชิต แล้วก็ผม ลงจากรถด้วยมาดของชายไทยผู้ตื่นเต้น

ทางเดินของโรงแรมมีพรมอย่างดีปูลาดพื้นทาง ภายใต้ซุ้มกันแดดกันฝนสีสันสวยงาม มีนายทหารแต่งตัวเติมยศ ประดับอินทรนูอันใหญ่ มีดิ้นทองห้อยระย้าอยู่สองข้างบ่า โก้เหมือนเครื่องแบบนายพล

ไอ้เครื่องแบบนี่แหละที่ทำเหตุ พอลงจากรถได้ พวกเราคนหนึ่งในสี่คนก็ปราดเข้าไปหานายทวารคนนั้น ยื่นมือไปจับมือนายทวารแล้วค้อมศรีษะกล่าวคำสวัสดีเป็นภาษาอังกฤษ ห้ามไม่ทัน

ถามไถ่ภายหลัง พวกเราคนนั้นบอกว่า นึกว่าเขาส่งนายพลมาต้อนรับ

ผมน่ะพอจะรู้ว่า นายทวารตามโรงแรมใหญ่ ๆ ที่เมืองนอกแต่งตัวโก้หรูแบบนี้ทั้งนั้น เคยเห็นในหนัง ไม่รู้ว่าพวกเราจะตื่นเต้นขนาดนั้น เลยไม่ทันฉุด แกไปเร็วเหลือเกิน

พวกเราคนนั้น ไม่ใช่พันศักดิ์ ไม่ใช่วิชิต และไม่ใช่ผม นายทวารคนนั้นเมื่อถูกให้เกียรติโดยไม่รู้ตัวก็เลยยืนเซ่อไม่รู้จะว่ายังไง รายนี้อาจเป็นรายแรกของเขาก็ได้ ตั้งแต่เป็นนายทวารมา

ยังมีอีกเรื่องอย่างนี้

พันศักดิ์กับผมพักห้องเดียวกัน พอเข้าห้อง อาบน้ำอาบท่าชำระล้างร่างเรียบร้อยแล้ว ก็แต่งตัวลงมาข้างล่าง เตรียมตัวไปพบเจ้านายที่สถานทูตไทย ทางสถานทูตจะเลี้ยงข้าวเย็นวันนั้น

กินข้าวกินปลากันเสร็จ จากสถานทูตก็กลับโรงแรมเอาประมาณสามทุ่ม ขึ้นลิฟต์ไปที่ห้อง ไม่มีอะไรจะทำ ถึงจะมีก็คงทำไม่ถูก เปิดประตูห้องเข้าไป ตอนขาออกไปมันยังกลางวันอยู่ กลับมามันมืดแล้ว ผู้ดูแลห้องเขาคงเข้ามาจัดการเปิดไฟและทำที่นอนให้ โดยเลิกผ้าคลุมไว้ให้เพื่อสอดตัวเข้าไปนอนได้

สามทุ่มที่โรมก็เป็นตีสามของกรุงเทพ ฯ มันก็ต้องง่วง ตอนกินข้าวตาก็ชักจะหรี่อยู่แล้ว เพิ่งมาจากกรุงเทพ ฯ หมาด ๆ เวลาในกรุงเทพ ฯ มันก็ยังตามมากับตัว

ทีนี้ตอนจะนอนก้อต้องปิดไฟ มองหาสวิทช์ไฟทั่วห้องก็หาไม่เจอ ไม่รู้ว่ามันเอาไปไว้ที่ไหน

ที่หัวนอนด้านที่พันศักดิ์นอน มีแผงสี่เหลี่ยมหนาขนาด ๒๓ นิ้ว กว้างประมาณ ๔ x ๖ นิ้ว วางอยู่อันหนึ่ง ที่แผงนั้นมีปุ่มอยู่สามปุ่ม สีต่าง ๆ กัน

ไอ้นี่ละวะดับไฟ ไม่ปุ่มใดก็ปุ่มหนึ่ง

กดฉับเข้าให้ปุ่มหนึ่ง .... ไม่ดับ กดอีกปุ่มหนึ่ง ... ไม่ดับอีก กดอีกปุ่มหนึ่ง สามปุ่มครบถ้วน ... แล้วไฟก็ยังไม่ดับ

ช่างมัน ... นอนมันทั้งไฟสว่างยังงี้ละวะ !

พอล้มตัวลงนอนซุกเข้าไปในผ้าห่มสักครู่เดียว ก็มีเสียงเคาะประตู - - ใครมากวนใจอีกล่ะ... ?

ลุกขึ้นถอดล๊อก ดึงประตูเปิดออก ที่หน้าประตูนั้นมีคนสามคนยืนเรียงกันเป็นหน้ากระดาน

คนแรกเป็นบ๋อย คนที่สองเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่งตัวในชุดทัคซีโด้สีดำหางยาว อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง แต่งชุดกระโปรงสั้นสีดำ มีผ้าดอกไม้คาดที่เอวและบนหัวใส่หมวกเล็ก ๆ สีขาว

ทั้งสามคนยืนหน้าบอกบุญไม่รับอยู่ แล้วทั้งสามก็ถามว่า " ต้องการอะไร " พร้อม ๆ กัน

" ไม่ต้องการอะไรหรอก ผมอยากจะปิดไฟน่ะ " ผมว่า

คนแต่งชุดทัคซีโด้ก็ก้าวเข้ามาในห้อง เดินไปด้านหลังของหัวเตียง สะกิดอะไรก็ไม่รู้ ไฟในห้องก็ดับ แล้วเขาก็ออกจากห้องไป งับประตูให้ด้วย

ผมคลำดูที่เขาเอื้อมไปเมื่อกี้นี้ ก็พบปุ่มสวิทช์ไฟอยู่ที่นั่น - - หายโง่แล้ว ! เล่นเอามาซุกไว้ยังงั้น ใครจะไปเห็น

คืนนั้นนอนหลับสนิท มาตื่นเอาตอนเช้าพอดี ได้ยินเสียงร้องในห้องน้ำ ไม่รู้ไอ้เพื่อนผมมันตื่นไปเข้าห้องน้ำตั้งแต่เมื่อไร

ผมลุกจากเตียงเผ่นไปที่ห้องน้ำ นึกว่ามันเป็นอะไรไป มันบอกว่า " เปล่า ไม่เป็นอะไรหรอก กูไขน้ำจากไอ้ก๊อกปุ่มสีแดงนี่ไว้ได้ครึ่งอ่าง เห็นควันมันฉุยดี โดดลงไปจะแช่ก็ต้องเด้งออกมานี่แหละ เกือบสุกไปทั้งตัว เด้งออกมาเสียทัน แล้วนี่กูจะอาบน้ำยังไงล่ะ "

แล้วมันก็ยืนมองน้ำในอ่างที่ยังส่งควันฉุยอยู่ นิ่งอยู่ ไม่รู้จะทำยังไง

เรื่องยังงี้ยังมีอีกแยะ แล้วผมจะค่อย ๆ เอามาเล่าให้คุณฟัง

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ตลกสังคม เรื่องที่ 2

เรื่อง ยิงกล้อง


คำว่า ' ยิงกล้อง ' นี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่นักสร้างและคนถ่ายภาพยนตร์ว่าหมายความว่ากระไร มันจะมาหลังจากคำว่า " แอ็คชั่น " คือให้ตัวแสดงเริ่มออกแสดงบทบาทได้แล้ว จึงจะมีคำสั่ง " ยิงกล้อง "
ตากล้องก็จะเริ่มเดินกล้อง

ผมคุ้นกับเรื่องภาพยนตร์นี้มานาน ตั้งแต่สมัยยังรับราชการอยู่ ผมแสดงหนังมาแล้วสามเรื่อง ทั้งสามเรื่องเป็นพระเอก เป็นหนังของทางราชการ และผมก็เป็นข้าราชการอยู่ในกรมตำรวจ (ชื่อสมัยนั้น) เรื่องค่าตัวไม่ต้องพูดถึงกันเพราะมันเป็นการรับราชการอย่างหนึ่ง เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้เล่นหนังก็ต้องเล่น ให้เล่นเป็นตัวอะไรก็ต้องเป็น เรื่องเล่นแล้วจะได้สตางค์เท่าไร ไม่ต้องพูดถึงกัน แสดงจบแล้วก็แล้วไป เพราะตัวผู้กำกับการแสดงก็ดี ผู้อำนวยการสร้างก็ดี หรือแม้แต่ตากล้องก็ดี ไม่มีใครพูดถึงเรื่องสตางค์ที่ผมจะได้รับ แถมบางวันตอนหยุดพักการถ่ายทำ ผมยังต้องเลี้ยงเหล้าเลี้ยงข้าวคนในกองถ่ายเสียอีก

เรียกว่าเป็นรายการกุศล ตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้บำเพ็ญกุศลคือผม

สมัยนั้นจะทำเป็นเล่นตัวไม่ยอมแสดงก่อนที่จะรู้ว่าได้ค่าตัวเท่าไรก็ไม่ได้ เพราะผู้สั่งการให้ผมแสดงชื่อ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น ถ้าจะพูดเรื่องสตางค์ก็ต้องพูดกับท่านผู้นี้ แล้วตัวผมนั้นพูดเรื่องเงินเรื่องทองกับท่านผู้นี้ได้เสียเมื่อไหร่ ผมก็จำใจเล่นเป็นการกุศลให้ หวังน้ำบ่อหน้า

กรมตำรวจสร้างภาพยนตร์ทั้งหมดกี่เรื่องผมไม่ทราบ แต่ผมเป็นพระเอกเสียสามเรื่อง คือเรื่อง "ศาสนารักนางโจร " " เหยื่ออาชญากรรม " และ " นักสืบพราน "

เรื่องหลังนี้เป็นเรื่องที่ผมเขียนขึ้นเองหลายตอน หยิบเอาตอนหนึ่งมาสร้างหนัง ชื่อเรื่องตอน " จำเลยไม่พูด " ค่าเรื่องผมก็ไม่ได้ ค่าตัวก็ไม่ได้ ค่าอะไรต่ออะไรก็ไม่ได้ เรียกว่าไม่มีรายได้อะไรทั้งหมดกับเรื่องนี้ แถมยังมีรายจ่ายอย่างที่ว่ามาข้างต้นเสียอีก

ยังไงก็ตามก็ยังเรียกได้ว่า ผมเคยเป็นดาราแสดงนำในภาพยนตร์ใหญ่ ๆ มาแล้วถึงสามเรื่อง ตอนนั้น มิตร ชัยบัญชา ยังไม่เกิดในวงการหนัง มีที่ดัง ๆ อยู่ก็ ส. อาสนจินดา ทัต เอกทัต สองคนนี่เคยประชันบทกับผมมาแล้ว เฉือนผมไม่ลง อย่าหาว่าคุย นางเอกแต่ละเรื่องไม่ซ้ำตัว รองนางสาวไทยก็มี ดาราศิลปากรก็มี ที่ดัง ๆ ในวงการภาพยนตร์ตอนนี้ก็มี แต่ดูเหมือนจะเล่นบทแม่กันไปหมดแล้วตอนนี้ จะมีบทย่าบทยายหรือเปล่าก็ไม่ได้ไต่ถาม

สมัยไหนก็ตาม ลงแสดงหนังด้วยกัน พระเอกกับนางเอกมักจะไม่ค่อยแคล้ว มักจะไปแสดงนอกจอเป็นพระเอกนางเอกกันและกันต่อนอกเรื่อง แต่ผมไม่ ผมเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ยุ่งกับนางเอกไปทุกคนหรอกครับ

คราวหนึ่ง กำลังถ่ายทำเรื่อง " เหยื่ออาชญากรรม " กันอยู่ ตากล้องเรื่องนี้ยืมเอามาจากกองทัพอากาศ เป็นตากล้องมือดีของกองภาพยนตร์กองทัพอากาศ ชื่อสุจินต์ นามสกุลอะไรผมจำไม่ได้เสียแล้ว เรื่องนี้ความจริงผมไม่น่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับเขาด้วย เพราะเป็นเรื่องของทางกองวิทยาการกรมตำรวจเป็นเจ้าของเรื่อง ผู้กำกับเยื้อน ซึ่งเป็นหัวหน้ากองวิทยาการอยู่นี่ซิที่ขอให้ผมแสดงเป็นตัวพระเอก ผู้กำกับเยื้อนนั้นเป็นนายเก่าผม ท่านขอแรงมาก็ต้องยอม ขัดคำสั่งไม่ได้ ไม่รู้ใครไปยุท่าน หรือไม่ยังงั้นทั้งกรมตำรวจก็คงจะมีผมหล่ออยู่คนเดียว บทนี้จึงต้องมาตกอยู่กับผมแทบทุกที

คืนวันนั้นเป็นคืนที่จะถ่ายตอนผู้ร้ายกับตำรวจยิงต่อสู้กัน ตำรวจก็ใช้ตำรวจจริง ๆ สี่ห้านาย แต่งเครื่องแบบมีปืนเล็กยาวประจำตัว ทุกคนใช้กระสุนปลอม แกะหัวจริงออก ใช้กระดาษจุกหัวเอาไว้ เรียกว่ ลูกหัวกระดาษ ส่วนตัวผู้ร้ายนั้นคือ พ่อประชา พูนวิวัฒน์
ตามบทผู้ร้ายต้องวิ่งไปพลางหันมายิงสู้กับตำรวจไปพลาง ส่วนตำรวจนั้นหมอบอยู่ในคันคูเป็นแถวหน้ากระดาน แล้วจะยิงต่อเมื่อผู้กำกับการแสดงสั่ง สมมุติว่ายิงไปยังผู้ร้ายที่กำลังหนีพลางสู้พลาง

พ่อประชาน่ะเขาคล่องอยู่แล้ว แสดงบทเป็นผู้ร้ายมาแล้วหลายเรื่องเหมือนกัน เมื่อถ่ายทางด้านผู้ร้ายเสร็จแล้วก็มาถึงแถวตำรวจที่นอนหมอบประทับปืนอยู่ในคู บรรจุกระสุนปลอมในลำกล้องเรียบร้อยแล้วทุกคน

ครูเนรมิต ผู้กำกับการแสดงก็ตรวจดูแถวตำรวจเรียบร้อยแล้วสั่งกล้องจับภาพ และแนะนำตำรวจว่า
" เวลาผมบอก แอ๊คชั่น ก็ให้เริ่มยิงได้เลย เข้าใจนะครับ "
ตำรวจพยักหน้าทุกคน เข้าใจ

" แอ็คชั่น " ครูเนรมิตออกคำสั่ง

ตำรวจทั้งแถวก็ลั่นไก ชักลูกเลื่อนสลดปลอกกระสุนออกแล้วยิงนัดใหม่ ไม่ยากเย็นอะไร

ครูเนรมิตก็หันไปสั่งกล้อง " ยิงกล้อง "

พ่อสุจินต์กำลังขยับเดินกล้อง ตำรวจทั้งแถวก็หันปากกระบอกปืนพร้อมกันทุกคนมาทางกล้อง แล้วก็ลั่นไกกันเปรี้ยงปร้าง พ่อสุจินต์ทิ้งกล้องเผ่นออกแทบไม่ทัน ร้องลั่นเสียงหลง

" หยุด หยุด " ครูเนรมิตร้องออกมาลั่นเหมือนกัน เสียงปืนจึงได้หยุด

พ่อสุจินต์นั่นน่ะเผ่นไปห่างกล้องหลายวาแล้ว ออกไปคลำข้างแก้มป้อย ๆ อยู่ คงโดนเข้ามั่งแถว ๆ นั้น

" ที่ผมสั่งยิงกล้องน่ะ ผมให้คนถ่ายเขาเดินกล้อง " ครูเนรมิตอธิบายกับตำรวจ " พวกคุณก็ยิงไปตรงหน้าอย่างเก่าซิ "

" อ้าว ! ก็ไม่รู้ " ผู้หมู่ที่คุมตำรวจมา พูดอ่อย ๆ " บอกยิงกล้อง ผมก็ยิงไปที่กล้อง นึกว่าให้ยิงไปที่นั่น "

นี่แหละ... จะเอาอะไรกับตำรวจนักหนา ไม่บอกกันเสียทีแรกให้เข้าใจ

ดีแต่ว่าเป็นกระสุนหลอก ไม่งั้นก็... เละ !

ตลกสังคม เรื่อง ที่ 1

หนังสือชื่อ ' ตลกสังคม ' เล่มนี้ รวมเรื่องสั้นไว้หลายเรื่อง คุณพ่อได้เขียนให้สำนักพิมพ์ ต่วยตูน นำออกวางตลาดเมื่อปี พ.ศ. 2525 และมีอารมณ์ขันน่าอ่าน จึงขอนำเสนอให้อ่านกันเล่นบางเรื่อง
หากมีผู้สนใจอ่านมากขึ้น จะนำมาให้อ่านอีกหลาย ๆ ตอน)

เรื่องที่ 1 - บันทึกจากถังขยะ

เมื่อเช้านี้เด็กที่บ้านผมวิ่งเลิ่กลั่กมาหาผม ส่งสมุดเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งมาให้ แล้วว่า
" คุณครับ ผมพบสมุดเล่มนี้ในถังขยะเมื่อกี้นี้ตอนค้นหาของในถัง ผมอ่านไม่ออกเลยเอามาให้คุณ "
ผมรับสมุดมาจากเขา เป็นสมุดพกขนาดเล็ก ๆ ปกสี่น้ำเงินกะทัดรัด เปิดออกดูผมก็เห็นมีข้อความเขียนด้วยลายมือขยุกขยิก แต่พออ่านออก ข้อความที่บันทึกไว้ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น แสดงว่าเจ้าของบีนทึกคงไม่ใช่บุคคลชั้นที่ได้รับการศึกษาอย่างดี แต่พอจะได้เนื้อถ้อยกระทงความ ถึงจะขาด ๆ หาย ๆ อ่านแล้วก็พอสนุก ผมจะถอดข้อความออกมาให้อ่านเล่นกัน ตบแต่งด้วยสะกดการันต์และข้อความเสียใหม่ให้อ่านรู้เรื่อง ดังนี้

" ชีวิตโว้ย ชีวิตกู ซ่าไปมันก็ไม่ดีโว้ย " หน้าแรกเขาเขียนไว้อย่างนี้ วันที่ก็ไม่ได้ลงไว้

พลิกหน้าต่อ ๆ ไป เรียงตามลำดับแต่ละหน้า พอที่จะแกะออกมาได้ว่า

" เงินจาง นางก็จร จำมาจากหลังรถบรรทุก มันเข้าทีดีเหมือนกัน เพราะมันเหมือนกู " หน้าที่สองมีแค่นี้ วันที่ก็ไม่มีอีกเหมือนกัน

" มันทำกูได้ กูก็จะทำกับมันบ้าง ระวังตัวให้ดีนะมึง อีดอก " คำสุดท้ายนี้คงหมายถึงผู้หญิงคนหนึ่ง

" บ้านก็ไม่มีจะอยู่ แล้วกูจะนอนที่ไหนวันนี้ นึกออกแล้ว ไปบ้านไอ้ย้งดีกว่า " ไอ้ย้งนี่ก็คงจะเป็นเพื่อนผู้ชายคนหนึ่ง

" ไอ้ย้งเพื่อนยาก มันยังดีกับกู ให้กูซุกหัวนอน แต่มันให้อยู่ได้สองสามวันเท่านั้น ก็จะต้องขยับขยายต่อไปอีก มันว่ามันก็จน กินแค่สองปากกับเมียมันมากกว่า เมียมันสวยดี แต่ยังไงก็สวยสู้อีดอกของกูไม่ได้ " หน้านี้ยาวหน่อย

" พรุ่งนี้แล้วซีโว้ยจะต้องจรไปอีก ไอ้ย้งมันเตือนแต่เช้า " หน้านี้สั้นแค่นี้ ไม่มีวันที่อีกเหมือนกัน

" ขอยืมเงินไอ้ย้ง มันบอกว่าไม่มี ให้แดกให้นอนสามวันก็ดีแล้ว ยังจะเอาเงินอีก เพื่อนหนอเพื่อน เวลากูจนตรอก อะไรมันก็ทับถมมาที่กู แล้วกูจะไปซุกหัวที่ไหน ฉุดเมียมันเสียเลยดีไหม " ชักจะดุดัน ตอนท้ายหักมุมเอาเฉย ๆ

" ศาลาวัดนี่ก็ดี พอนอนได้ แต่ยุงชุมฉิบหาย ตบกับมันจนหลับไปได้ " ไอ้ที่ตบคงจะเป็นยุง

" เรามันไม่ดีเอง ตอนมีเงินก็ทำซ่า ใช้มันจนหมด แล้วตอนหมดนี่ ไม่เห็นมีไอ้หน้าไหนมันช่วยกู "

" ดักจี้คนดีกว่าว่ะ " หน้านี้สั้น แต่ได้ใจความ

" ใจแข็งไม่พอ เมื่อคืนจะได้เรื่องอยู่แล้ว ดันใจอ่อนคืนมันไปเสียนี่ ผู้หญิงนี่ชนะกูเสียเรื่อย วันนี้ท้องร้องทั้งวัน แดกแต่น้ำ เมื่อคืนไม่น่าคืนมันไปหมด กูมันเซ่อเอง " เป็นสุภาพบุรุษอยู่เหมือนกัน คงเสียดายอยู่

" เออ เมื่อคืนเจอเด็กเข้าอีก มันมีเพียงสิบบาท บอกว่าพ่อให้ออกมาซื้อเหล้า ถ้าไม่ได้เหล้าเข้าไปก็จะโดนพ่อเตะไม่เลี้ยง ก็ต้องคืนมันไปอีก กูหนอกู " คนอย่างนี้ก็มี

" เจ็บใจอีดอกนัก กูเห็นจะต้องฆ่ามันเสียแล้ว หนอย อยู่ด้วยกันมาตั้งสิบ ๆ ปี กูไม่ใช่เหรอที่คอยดูแลมึง ไม่ให้ใครมารังแก พอเงินกูหมด ขอมันก็ไม่ให้ แถมยังไล่กูให้ไปให้พ้น ๆ ที่แท้มันจะมีผัวใหม่ ดีละมึง " หันไปรำพึงถึงความหลัง คงจะเป็นคนคุมผู้หญิงอะไรซักประเภทหนึ่ง แมงดาเสียก็ไม่รู้

" ฆ่ามันไม่ลงโว้ย ไอ้ผัวใหม่มันคุมแจ ไปถึงที่ีทำงานมันก็ยังไปคุม แล้วตัวมันก็โตกว่ากู " นึกว่าจะใจอ่อนฆ่าเมียไม่ลงเพราะสงสาร คงหาโอกาสอยู่เหมือนกัน แต่กลัวผัวใหม่เอาจริง ๆ ก็น่าหรอก

" ไปตายเอาดาบหน้าดีกว่าว่ะ แผ่นดินไม่สิ้นหนทาง " คำทิ้งท้ายอันนี้คงจะคิดขึ้นเอง แปลกดี

บันทึกจบเพียงแค่นี้

หน้าต่อ ๆ ไปว่างเปล่าเอาเฉย ๆ แล้วสมุดเล่มนี้ก็มานอนอยู่ในถังขยะ เจ้าของคงไม่อยากเอาติดตัวไป เรียกว่าทิ้งความหลังไปเลย ผมก็ได้วัตถุดิบมาเขียนให่อ่านกันเล่น ไม่ยังงั้นคงนั่งคิดหาเรื่องจะมาเขียนไม่ออก

เจ้าของบันทึกอยู่ที่ไหน ผมขอขอบคุณครับ !

ทำไมจึงต้องมี Blog นี้

เหตุผลแรก คือต้องการเผยแพร่ผลงานของคุณพ่อ ไม่อยากให้สูญหายไป

คุณพ่อของดิฉันท่านเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว หลังคุณแม่เสียชีวิตในปี 2535 ปีที่กรุงเทพ ฯ วุ่นวายด้วยเหตุการณ์การเมืองที่เรารู้จักกันว่าเป็น "พฤษภาทมิฬ' คุณพ่อก็ตามคุณแม่ไปหลังจากนั้นประมาณอีก 2 ปี

คุณแม่จากพวกเราไปอย่างสงบ ท่านไม่ได้เสียชีวิตจากเหตูการณ์การเมืองที่ว่านั้น แต่ท่านนอนป่วยมานานแล้ว เพียงแต่ช่วงเพตูการณ์ร้ายแรงนั้น พวกเราลูก ๆ ไปวัด ฟังสวด ทำพิธีให้คุณแม่ที่วัดเทพศิรินทร์ ฯ ท่ามกลางอันตราย คือต้องผ่ากระสุนไปที่วัดเพื่อทำพิธีให้ครบ 7 คืน มีลูก 2 คน และญาติอีก 1-2 คนเท่านั้นที่กล้าไปร่วมในพิธีสวดพระอภิธรรม

คุณพ่อจึงไม่ให้เก็บคุณแม่ไว้ 100 วัน เนื่องจากเหตุการณ์ไม่แน่นอน เราจึงจัดการเผาคุณแม่หลังจาก 7 วัน โชคดีที่เหตุการณ์สงบลงก่อน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่ให้ผู้เผชิญหน้า 2 คนไปพบที่ในสวนจิตรลดา งานเผาศพของคุณแม่จึงมีผู้คนที่ยังรู้จัก และชอบพอกับท่าน มาร่วมงานถึงเกือบ ๆ 400 คน

ส่วนคุณพ่อ ท่านคงจะเหงา และเฉา เพราะไม่มีคนที่ท่านคอยแหย่เล่นทุก ๆ วันอีก แม้ว่าช่วงก่อนเสียชีวิต คุณแม่จะได้แน่นอนเฉย ๆ เพราะท่านไม่คุยกับใครอีก สมองท่านคงจะฝ่อไปแล้ว แต่คุณพ่อก็ยังชอบพูดแหย่คุณแม่เล่นอยู่เสมอ

คุณพ่อมีเพื่อนมาก แต่ท่านเบื่อที่จะออกไปเจอรถติด แม้จะมีคนมาบริการให้ทุกวัน หลัง ๆ ท่านก็เลยอยู่บ้าน อ่านหนังสือพิมพ์ ดู ที วี อย่างเดียว และรอให้ลูก ๆ ญาติ ๆ ไปพบพูดคุยที่บ้าน บางครั้งก็มีรายการ ทีวี หรือสื่อ ไปสัมภาษณ์บ้าง เพราะท่านเป็นผู้ที่ยังพอจะมีคนรู้จักอยู่บ้าง

ท่านเคยรุ่งโรจน์ในอดีต เคยเป็นนักเรียนที่เรียนเก่งมาก สอบได้ที่ 1 เป็นประจำ และท่านเป็นคนที่รูปร่างหน้าตาดีมาก อยู่ในขั้นที่เรียกว่า 'หล่อมาก' คนหนึ่ง เป็นที่ใฝ่ฝันของสาว ๆ ในสังคมช่วงนั้นทีเดียว ยิ่งเมื่อท่านมีตำแหน่งสูงขึ้นในราชการ เคยแสดงภาพยนตร์เป็นพระเอกมาเองแล้ว (โดยเคยได้ค่าตัว เพราะเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา) เพราะผู้กำกับหานักแสดงที่เข้ากับนวนิยายที่ท่านประพันธ์เองไม่ได้

คุณพ่อเป็นผู้วางระบบงานด้านการสอบสวนสืบสวนของกรมตำรวจ (ชื่อในขณะนั้น) ตามแบบฉบับของ Scotland Yard ที่ท่านได้ไปดูงานมา หน่วยราชการลับ และข่าวกรองของตำรวจในยุคของท่าน ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานที่ 'รู้ทุกเรื่อง' ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ในที่สุด เมื่อเกิดการปฎิวัติรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน 2500 เมื่อเพื่อน ๆ ของเจ้านายเกิดผลประโยชน์ไม่ต้องกัน และเพื่อไม่ให้คนไทยต้องฆ่ากัน คณะของท่านก็เข้าไปมอบตัว และถูกเชิญให้ไปลี้ภัยที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พร้อมกัน โดยใช้ชีวิตที่นครเจนีวาประมาณ 10 ปี ต่อมาคุณพ่อได้พำนักที่นครเวียงจันทร์ต่ออีก 3 ปี รวม 13 ปีที่คุณพ่อได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ก่อนที่จะกลับเข้าประเทศไทยในปี พ.ศ. 2512

ท่านเป็นหนึ่งใน ' อัศวินแหวนเพชร ' ของกรมตำรวจในยุคนั้น

ดิฉันจะค่อย ๆ นำเรื่องที่คุณพ่อท่านเขียนไว้มาให้ผู้สนใจติดตามอ่านกัน
อยู่ที่ว่ามีผู้สนใจมากน้อยเพียงใดนะคะ