จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประวัติของ พ.ต.อ. (พิเศษ) พุฒ บูรณสมภพ

เรื่อง ประวัติ

อันที่จริง ควรจะต้องเริ่มจากประวัติของท่านผู้เป็นเจ้าของเรื่องตัวจริง ก่อนจะนำเรื่องประพันธ์ของท่านขึ้นเผยแพร่ แต่ไม่เป็นไร คงไม่ถือกัน ก็เลยลงไว้ให้อ่านกันไว้บ้างว่า กว่าบุคคลคนหนึ่งจะเดินทางมาจนถึงบั้นปลายนั้น เขาได้ผ่านอะไรมาบ้าง

เด็กชาย พุฒ บูรณสมภพ เกิดที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันพุธ (กลางคืน) ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462 เป็นบุตรคนที่ 5 ของ พระยาสิงห์บุรานุรักษ์ และ คุณหญิง หลิน (สกุลเดิม จุลกะ) มีพี่น้องรวม 8 คน ดังนี้

1. น.ส. พเยาว์ บูรณสมภพ (เสียชีวิต)
2. นายอิทธิ บูรณสมภพ (เสียชีวิต) สมรสกับ นาง ทนอมศรี (อัศวรักษ์)
3. นางลักษณะ บูรณสมภพ (เสียชีวิต) สมรสกับ นายเทียบ อัศวรักษ์ (เสียชีวิต)
4. นางวันณี ไชยโรจน์ (เสียชีวิต) สมรสกับ พลโท อำนวย ไชยโรจน์ (เสียชิวิต)
5. พ.ต.อ. (พิเศษ) พุฒ บูรณสมภพ สมรสกับนางทิพยา (นามและสกุลเดิม ทับทิม ธรรมสโรช) (เสียชีวิต)
6. นางนอบศิริ สมรสกับนายจินดา กาญจณารมณ์
7. นาย นนท์ บูรณสมภพ สมรสกับ รศ. ดร. ตรึงใจ (เกิดศิริ)
8. น.ส. สุนันท์ บูรณสมภพ

ร.ต.ท. พุฒ บูรณสมภพ (ยศขณะนั้น) เข้าพิธีสมรสกับ น.ส. ทิพยา (ทับทิม) ธรรมสโรช ธิดาคนที่ 2 ของขุนวิเทศธราธร และนางเชื่อม ธรรมสโรช เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2486 และมีบุตรรวม 5 คน คือ

1. นางพ้ทธยา (ตุ้ย) สมรสกับ นาย จามร ชุมสาย ณ อยุธยา
2. นาง ธาริณี (ตุ๊ก) สมรสกับ นาย ทรงศักดิ์ ทวีเจริญ ทจ.
3. ว่าที่ ร.ท. ธีรพงศ์ (ติ๊ก) บูรณสมภพ สมรสกับ นาง กัญห์ชลี (เวชประสิทธิ์)
4. ผศ. ดร. พัชราวลัย (แหม่ม) สมรสกับ นาย วิศรุต ชัยปาณี
5. ดร. พงษ์รพี (ต้อง) บูรณสมภพ

มีหลานปู่และหลานตารวม 8 คน และเหลน 1 คน

เจ้าคุณปู่ส่งคุณพ่อเข้าเรียนประจำในโรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนเวนต์ จนอายุได้ 11 ปี เพื่อให้แม่ชีดำที่โรงเรียนฝรั่งในสมัยนั้นอบรมนิสัยที่ค่อนข้างจะเป็น 'คนเฮี้ยว' อยู่สักหน่อย ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อจึงมีโอกาสได้เรียนภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่เด็ก ๆ และต่อมาได้จัดการให้ลูกสาวคนโต 2 คนได้เรียนภาษาฝรั่งเศสก่อนภาษาอังกฤษ ด้วยเห็นว่า เมื่อรู้ภาษาฝรั่งเศสก่อนแล้วนั้น ภาษาอังกฤษจะง่ายและมาเอง เพราะท่านมีประสบ-การณ์มาก่อนแล้ว

ต่อจากนั้น คุณพ่อได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนสวนกุหลายตามลำดับจนจบชั้นอุดมศึกษา

คุณพ่อเป็นคนที่เรียนเก่งมาก และสอบได้ที่หนึ่งทุกปี ท่านอยากเป็นทหารอากาศ เป็นนักบิน แต่ท่านตัวเตี้ยและเล็ก (160 ซม.) ท่านจึงพยายามโหนประตูห้องน้ำทุก ๆ วัน จนสูงขึ้นถึง 180 ซม. ท่านสอบไม่ติดทหารอากาศ แต่มาติดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จปร. แทน จึงได้เข้ารับราชการเป็นตำรวจมาถึงปี พ.ศ. 2500 ท่านครองตำแหน่งนักเรียนดีเด่นมาโดยตลอด ได้เป็นหัวหน้าชั้นและผู้บังคับหมวดภายในโรงเรียนเสมอมา ทำให้ออกจะติดเป็นคนดุและเด็ดขาดมาก

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ท่านสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย จปร. ด้วยยศ ร้อยตำรวจตรี และได้ไปประจำการอยู่ที่สภานีตำรวจชลบุรี มี พ.ต.ต. หลวงนริทรศรศักดิ์ เป็นผู้กำกับ ต่อมาคุณพ่อได้รับการเลื่อนยศเป็น ร้อยตำรวจโท ตำแหน่งสารวัตรสืบสวนกลาง ประจำโรงพักภาษีเจริญ ชนะสงคราม และย้ายไปเป็น สารวัตรสอบสวน ประจำกรมตำรวจ กองกำกับการ 2 สันติบาล (สืบสวนเรื่องการเมืองโดยเฉพาะ) โดยมี
พ.ต.ต. ประจวบ กีรติบุตร เป็นผู้กำกับการ

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 เกิดรัฐประหาร สมัยที่พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ควบคุมรัฐบาล ร.ต.อ. เชื้อ สุวรรณศร เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

ท่านปรีดี ฯ ถูกจับโดย พ.ท. ละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 บางซื่อ
หัวหน้ารัฐประหาร คือ พลโท ผิน ชุณหะวัน ต่อมา คณะรัฐประหารได้เชิญ นาย ควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป๋นนายกรัฐมนตรี ช่วงเวลานั้น คุณพ่อรับผิดชอบฝ่ายการข่าว กอง 2 สันติบาล

คุณพ่อเป็นอาสาสมัครของพลพรรคเสรีไทย (ในสงครามโลกครั้งที่ 2) มีหน้าที่นำขบวนกำลังไปรับร่มลำเรียงอาวุธและยารักษาโรคจากพันธมิตรอเมริกา ส่งลงมาที่ท้องสนามหลวง

หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น ได้มีคำสั่งย้ายคุณพ่อให้เข้ามาเป็นรองสารวัตรประจำโรงพักชนะสงคราม เพื่อมาคุมหน่วยเสรีไทยที่บ้านมลิวัลย์ ถนนพระอาทิตย์ (วังกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์) ซึ่งสมัยนั้น หนึ่งในเสรีไทยมีชื่อว่า นาวาอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา (ยศในขณะนั้น)

จากโรงพักชนะสงคราม คุณพ่อถูกเรียกตัวให้ไปประจำอยู่ที่กองตรวจสันติบาล ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อปราบโจรที่ชุกชุ่มหลังสงคราม

1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 คณะเสนาธิการกองทัพบก คิดปฏิวัติเพื่อขับไล่รัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ คุณพ่อถูกมอบหมายให้รับหน้าที่สอบสวนคณะกบฏเสนาธิการ

16 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2492 เกิดรัฐประหารวังหลวง แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นเหตุให้ นาย ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนจบชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศสในที่สุด

พ.ศ. 2493 กรมตำรวจตั้งหน่วยปฏิบัติการขึ้นหลายหน่วย คือ หน่วยรถเกราะหนักและเบา และหน่วยพลร่ม หน่วยตำรวจตะเวนชายแดน หน่วยตำรวจวัง และตำรวจน้ำ โดยมีแนวร่วมเป็นบริษัทการค้าชื่อ SEA Supply (South East Asian Supply) และ หน่วย O.S.S. (Office of Strategic Services) ของอเมริกาให้ความช่วยเหลือฝึกฝน

หน่วยพิเศษมี พ.ต.ต. เยื้อน ประภาวัตร เป็นผู้บังคับการ
ร.ต.อ. วิชิต รัตนภาณุ เป็น สารวัตรแผนก 1 กองตำรวจเหนือ
ร.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ เป็นสารวัตรแผนก 2 รับผิดชอบหน่วยรถเกราะเบา
ร.ต.อ. พันศักดิ์ วิเศษภักดี เป็นสารวัตรแผนก 3 กองตำรวจนครบาลธนบุรี รับผิดชอบหน่วยรถเกราะหนัก

ในปีเดียวกันนี้ กรมตำรวจได้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน นครปฐมขึ้น และมี
พล ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ

หลังจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน พล ต. อ. เผ่า ศรียานนท์ ก็โอนย้ายจากทหารบกมาเป็นอธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ โดยคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กิจการของกรมตำรวจเฟื่องฟูขึ้นในสมัยนี้เอง

พ.ศ. 2494 รัฐบาลกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติประเทศไทยทางเรือ โดยเสด็จ ฯ ลงประทับบนเรือ จากท่าเรือนคร Genoa ประเทศอิตาลี กลับประเทศไทย

คุณพ่อได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในคณะบุคคลที่เดินทางไปรับเสด็จ ฯ ด้วย โดยพล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ คัดเลือกนายตำรวจฝีมือดีของกรมตำรวจไว้ 4 นายเพื่อถวายการอารักขา คือ

1. ร.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ
2. ร.ต.อ. อรรณณพ พุกประยูร
3. ร.ต.อ. วิชิต รัตนภาณุ
4. ร.ต.อ. พจน์ เภกะนันท์ (ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ในขณะนั้น)

นายตำรวจทั้ง 4 ต้องไปรอที่เมือง Lausanne ประเทศสวิต ฯ เพื่อถวายการอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระคู่หมั้น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร และนำเสด็จ ฯ ไปที่ท่าเรือในนคร Genoa ประเทศอิตาลี

คุณพ่อเขียนเล่าไว้ว่า ได้ชื่นชมพระบารมี และได้ร่วมเล่นดนตรีที่ท้ายเรือพระที่นั่งเป็นประจำทุกเย็นตลอด 28 วัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป่า Saxophone และคุณพ่อเล่นกีตาร์บ้าง ตีกลองบ้าง เล่นเปียโนบ้าง บางคืนก็ทรงพระราชทานเป็นเงินตั้งวงไพ่ให้ทุกคนที่ร่วมวงคนละ 5 ปอนด์ เป็นรายการย่อยพระกายาหาร คุณพ่อได้เขียนถึงเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งของชีวิตท่านในตอนนี้ ในหนังสือ ต่วนตูน ตอน 'พระบารมีพระมากพ้นรำพัน' เล่าเรื่องที่ได้ถวายการอารักขาทั้งสองล้นเกล้า ฯ บนเรือที่เสด็จ ฯ นิวัติพระนคร ได้มีผู้นำไปออกอากาศในรายการโทรทัศน์ในเวลาหลายสิบปีต่อมา ก่อนที่คุณพ่อจะล้มป่วยลงและจากโลกนี้ไป

พ.ศ. 2495 คุณพ่อได้รับเลื่อนยศเป็น พ.ต.ต. และไปประจำอยู่สถานีตำรวจบางรัก หลังจากนั้น ได้มีพระบรมโองการแต่งตั้งให้นายตำรวจทั้ง 4 นายเป็นนายตำรวจประจำราชสำนัก (ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งราชองครักษ์ของทางราชการทหารในสมัยนี้)

ต่อมาอีกไม่นาน ท่านอธิบดีกรมตำรวจ ได้ตั้งรางวัลให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ที่ทำชื่อเสียงทางการปราบปราม และทางการงานที่เป็นประโยชน์ต่อราชการตำรวจ ไม่ว่าฝ่ายภูธรหรือนครบาล โดยได้รับรางวัลจากท่านอธิบดีกรมตำรวจเป็นแหวน ซึ่งรู้จักกันว่า 'แหวนอัศวิน' ใส่สวมที่นิ้วนางด้านขวา ต่อมามีอัศวินมากขึ้น จึงมีการเพิ่มเติมเพชรประดับขึ้นเรียกว่า ' อัศวินแหวนเพชร' (มีเพียง 30 คน และยุติอยู่เพียงจำนวนนั้น)

(อาหารที่ชื่อว่า บะหมี่อัศวิน เกิดขึ้นในสมัยนั้น ที่กลุ่มอัศวินแหวนเพชรสั่งพิเศษ ใส่เครื่องสารพัดรวมกัน กลายเป็นอาหารจานอร่อยประจำร้านสีฟ้าราชวงศ์ต่อมา)

พ.ศ. 2495 วงดนตรีสากล ชื่อ 'วงประสานมิตร' ถือกำเนิดขึ้น รวมนักดนตรีชั้นหัวหน้าวงชื่อดังหลายท่าน เช่น ประสิทธิ์ พยอมยงค์ สมาน กาญจนผลิน พิบูลย์ ทองธัช จำนรรจ์ กุณฑลจินดา อุโฆษ จันทร์เรือง ฯลฯ มีการฝึกซ้อมกันทุกวันที่บ้านในซอยประสานมิตร (สุขุมวิท 23 ปัจจุบัน) โดยมีต้นแบบจากวง Grand Miller ซึ่งเป็นวงดนตรีระดับแนวหน้าของอเมริกาในสมัยนั้น นำเอาเพลงไทยเดิม เช่น ลาวดวงเดือน เป็นต้น มาบรรเลงเป็นทำนองสากล ออกอากาศที่สถานีวิทยุ ททท ของกรมประชาสัมพันธ์ ทำเอานักเพลงตื่นเต้นกันทั้งเมือง กลายเป็น Talk of the Town ของสมัยนั้น วงประสานมิตรนี้ได้ออกเล่นในงานรัฐธรรมนูญ และที่เวทีลีลาศสวนอัมพร ซึ่งเป็นเวทีของกลุ่ม ไฮโซในสมัยนั้น หลายครั้งในเวลาต่อมา นักดนตรีและนักร้องเป็นคนไทยแท้ ๆ ทั้งหญิงและชาย เป็นวงดนตรีไทยวงแรกที่สามารถบรรเลงเพลงสากลให้คนไทยฟังได้เหมือนวงจากต่างประเทศ จากนั้นไม่นาน วงประสานมิตรก็ได้เข้าสังกัดกองดุริยางค์ กรมตำรวจ

พ.ศ. 2495 คุณพ่อถูกส่งตัวไปอบรมดูงานที่ Scotland Yard ประเทศอังกฤษ ได้เลื่อนยศเป็น พ.ต.ท. และมีคำสั่งให้ไปศึกษาด้านการสืบสวนทางการเมืองโดยเฉพาะ เป็นเวลาประมาณ 1 ปีเต็ม โดยคุณพ่อได้ตะเวณดูงานในประเทศแถบ Scandinavia และดูงานด้านตะเวณชายแดนที่ Germany, Danemark, Holland, Norway และ Sweden เพื่อนำวิธีการมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ของกรมตำรวจในประเทศไทย

พ.ศ. 2496 กรมตำรวจมีคำสั่งให้คุณพ่อย้ายไปเป็นรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาล ฝ่ายต่างประเทศ โดยมีพล ต. จ. รัตน์ วัฒนมหาตม์ เป็นผู้บังคับการ

พ.ศ. 2496 คุณพ่อ และ พ.ต.ท. พันศักดิ์ วิเศษภักดี ได้ร่วมกันสนับสนุนให้กระทรวงเศรษฐการเข้าถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยได้รับการติดต่อจาก นายชิน โสภณพนิช ทำให้ช่วยกอบกู้สถานการณ์ของธนาคารกรุงเทพให้มั่นคงขึ้น และเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ระยะหนึ่ง

พ.ศ. 2497 กำเนิดหนังสือพิพม์ชาวไทย ซึ่งคุณพ่อได้รับมอบหมายให้ไปดูแลเขียนบทความโต้ตอบหนังสือพิมพ์ที่โจมตีกรมตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'สารเสรี' และ ' ไทยรายวัน' ในสมัยนั้น

คุณพ่อได้รับมอบหมายให้จัดพิมพ์นิตยสารรายเดือนของกรมตำรวจ ชื่อ ' อาชญากรรม' ที่นี่เป็นที่กำเนิดของนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน เรื่อง 'นักสืบพราน' โดยคุณพ่อใช้นามปากกาว่า 4411 ซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวของท่าน สมัยยังเป็นนักเรียนนายร้อยอยู่ที่ จปร. ท่านนำแบบฉบับของนักสืบที่เป็นทนายความของ Earl Standley Gardner ชื่อ Perry Mason พร้อมเลขานุการคู่ใจ Dolly Sreet ที่รู้ใจเจ้านายเป็นอย่างดี ร่วมกันต่อสู้กับอิทธิพลของตำรวจ กว่าจะทำงานแต่ละเรื่องได้สำเร็จ เป็นนวนิยายที่ติดตลาดของอเมริกาในสมัยนั้น

นักสืบพราน เจนเชิง พระเอกของคุณพ่อ ก็มีเลขานุการคู่ใจชื่อ กัลยา ชาญวิทยา โดยคุณพ่อได้นำคดีจริงที่เคยทำมาในยุคที่วุ่นวายอยู่กับงานปราบปรามที่กองตำรวจนครบาล มาดัดแปลงปรุงแต่งให้ตื่นเต้น และได้กลายมาเป็นนวนิยายที่คนทั่วเมืองไทยติดตามอ่านกันอย่างใจจดใจจ่อ

ต่อมา คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ดูแลกำกับภาพยนตร์เรื่องที่สองของกรมตำรวจ ชื่อเรื่อง 'เหยื่ออาชญากรรม' มีครูเนรมิตรเป็นผู้กำกับการแสดง ครูจรี อมาตยกุล เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ และคุณพ่อได้รับคำสั่งให้แสดงเป็นพระเอกของเรื่องนี้ โดยมีคุณลัดดา สุวรรณสุภา นางงามชลบุรีของสมัยนั้น รับบทเป็นนางเอก

ภาพยนตร์เรื่อง นักสืบพราน ตอน 'จำเลยไม่พูด' ได้ถูกสร้างขึ้นในเวลาต่อมา คุณพ่อก็ได้รับคำสั่งให้รับบทพระเอกอีก เนื่องจากครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) ไม่สามารถหานักแสดงที่มีลักษณะตามที่คุณพ่อวางไว้ได้ นางเอกเป็นนางงามจังหวัดเชียงราย ชื่อ วาสนา รอดศิริ รับบทเป็น กัลยา ชาญวิทยา

29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินขบวนมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลลาออก เหคุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดวีรบุรุษสะพานมัฆวาน ชื่อ ร. อ. อาทิตย์ กำลังเอก (ยศในขณะนั้น)

17 กันยายน พ.ศ. 2500 เกิดรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัขต์ คุณพ่อเล่าว่า ท่านและท่านอธิบดีกรมตำรวจทราบมาก่อนแล้วว่า จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แต่ท่านอธิบดี ฯ เกิดความเบื่อหน่ายในอำนาจทางการเมือง และการแย่งชิงกัน เมื่อเพื่อนอยากได้อำนาจ ท่านก็ไม่ต่อสู้ อันจะทำให้คนไทยเกิดการสูญเสียมากกว่าเป็นผลดี ท่านและนายตำรวจฟังข่าวปฏิวัติอยู่ที่บ้านลับแห่งหนึ่ง ได้พร้อมกันโยนปืนพกประจำตัวลงไปในบ่อน้ำในสวนลุมพินี แล้วพากันไปมอบตัวที่กองบัญชาการทหารบกในเย็นวันเดียวกัน ตามที่วิทยุได้มีประกาศเชิญของฝ่ายปฎิวัติ ตามรายนามดังต่อไปนี้

1. จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
2. จอมพลอากาศ ฟื้น ฤทธาคณี แม่ทัพอากาศ
3. จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล แม่ทัพเรือ
4. พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ
5. จอมพล ผิน ชุณหะวัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

18 กันยายา พ.ศ. 2500 พล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.ต.อ. พันศักดิ์ วิเศษภักดี และ พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ ถูกส่งตัวไปประเทศสวิตเซอร๋แลนด์ โดยเครื่องบิน Swissair โดยมีคำสั่งจากหัวหน้าคณะปฏิวัติให้ไปประจำที่สถานทูตไทยในกรุง Bern ประเทศสวิต ฯ ในฐานะคณะทูตพิเศษกินตำแหน่งเลขานุการเอก แต่เป็นการเดินทางแบบตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียว (One way) ชั้นหนึ่ง ไม่มีตั๋วกลับ หนังสือเดินทางแบบ Diplomatic มีวีซ่าเข้าประเทศสวิต ฯ เรียบร้อยทุกประการ

แต่เมื่อถึงประเทศสวิต ฯ แล้ว ก็ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่ง เนื่องจากเมื่อเครื่องบินแวะลงที่กรุงการาจี ได้มีหนังสือพิมพ์อินเดียส่งผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์ และไปออกข่าวผิดพลาดว่า คณะนี้จะชิงอำนาจกลับให้ได้ จึงเป็นที่มาของการเข้าใจผิดในช่วงแห่งการสับสนนั้น

ชีวิตในต่างประเทศนั้น คุณพ่อได้เขียนไว้หลายตอน ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู้กันฟังในรายละเอียดต่อไป

คุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ณ โรงพยาบาลตำรวจ ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ เมื่ออายุได้ 80 ปี

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การเมืองที่ทำให้พวกเราต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศกันนานกว่า 10 ปีนั้น เป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส พวกเราได้ภาษาและได้รับความรู้อย่างดีจากโรงเรียน International School of Geneva ได้มีวิสัยทัศน์ที่กว้าง ทำให้เราเห็นสัจธรรมว่า ในเรื่องการเมือง ' ไม่มีมิตรแท้ และไม่มีศัตรูถาวร' อำนาจคือ 'หัวโขน' ที่ไม่ควรยึดติด

'ความดี' เท่านั้นที่คงอยู่ตลอดไป
'คุณธรรม' คือสิ่งที่ทุกคนต้องยึดมั่นไว้เพื่อชีวิตที่ดีในอนาคต
ต้องทำในสิ่งที่ 'ถูกต้อง' ไม่ใช่ 'ถูกใจ' และ
ต้องรู้จัก 'เสียสละ' เพื่อส่วนรวม ประเทศชาติจึงจะอยู่รอด



4 ความคิดเห็น:

  1. เคยคุยกันถูกคอ...แล้วออกไปกินข้าวต้มด้วยกัน เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๖ หลังจากสังสรรกันที่บ้านพี่ต่วย ริมคลองประปา รู้สึกนับถือท่าน แต่ไม่ได้พบเจอกันอีก เพราะงานราชการมาก มาอ่านบันทึกเก่า เจอชื่อท่าน จึงรู้ว่าท่านเสียชีวิตแล้ว ขอแสดงความเสียใจ และระลึกถึงท่าน มาด้วย ณ ที่นี้
    พิพัฒน์ ศิรินุต

    ตอบลบ
  2. นับถือท่านครับ
    ท่านคือ idol ผมเลยครับ

    ตอบลบ
  3. ผมเริ่มสนใจอัศวินแหวนเพชรในช่วงโตเรียนธรรมศาสตร์สมัย2511-19ส่วนใหญ่จากการอ่านหนังสือ วารสาร พ็อกเก็ตบุ๊ค ประมาณปี 2514-17 ได้มีโอกาสรู้จักเจ้านายของเพื่อนที่ทำงานบริษัทเหมืองแร่ พ.ต.อ.วิชิต รัตนภาณุ พ่อผมก็เป็นตำรวจรุ่นหลังอัศวินราว10ปีผมเองก็อ่อนกว่าพ่อ20ปี ผมตื่นเต้นดีใจที่ได้เจออัศวินแหวนเพชรคนแรก..เวลาผ่านไปจนปี2561ผมได้รู้จักเพื่อนสตรีคนหนึ่งโดยบังเอิญเธอใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมากภาษาคลาสสิกและใช้ชีวิตในต่างแดนมายาวนาน..ฟ้าลิขิตให้ผมได้รู้จักลูกสาวของพ.ต.อ.พันธศักดิ์ อัศวินแหวนเพชรคนที่สองและทราบว่าท่านได้เสียชีวิตแล้วราว10ปี จะว่าเป็นเหตุบังเอิญก็ได้เป็นลิขิตก็ได้ที่ให้ผม"อัศวิน"ลูกตำรวจที่มีอัศินแหวนเพชรเป็นIdolได้มาเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสองอัศวิน

    ตอบลบ
  4. ชีวิตท่านน่าสนใจดีครับ เป็น4ตำรวจฝีมือดีที่อารักขาในหลวงกลับประเทศไทยด้วย ถือว่าสุดยอดมากครับ และที่ผมสนใจท่านมากๆเลยคือ ท่านรู้ว่าใครเป็นคนลงมือสังหาร4รัฐมนตรีที่เป็นข่าวใหญ่ในสมัยนั้น เพราะท่านบอกว่าท่านอยู่ในเหตุการณ์ แต่ท่านไม่ขอที่จะพูด แต่ท่านก็ยอมรับว่าผู้มีอำนาจในขณะนั้นเป็นผู้สั่งการ...ผมว่าท่านสมควรกับคำที่ว่า ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน มากๆเลยครับ

    ตอบลบ